วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557
การอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร
พื้นที่ต้นน้ำลำธารเป็นแหล่งผลิตน้ำให้แก่ลำธาร ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยภูเขา หรือเนินสูง ที่มีความลาดชันค่อนข้างมาก สำหรับพื้นที่ต้นน้ำลำธารซึ่งปกคลุมด้วยสภาพป่าไม้ตามธรรมชาติ ที่มีความสมบูรณ์ ป่าไม้จะช่วยป้องกันน้ำฝนขณะฝนตก มิให้กัดเซาะชะพาดินผิวหน้า และช่วยรักษาความสมบูรณ์ และความชุ่มชื้น มิให้เสื่อมสูญไป ส่วนเศษไม้ ใบไม้ ที่ทับถมผุพังอยู่บนผิวดินนั้น ก็จะช่วยดูดซับน้ำฝน ทำให้น้ำมีโอกาสไหลซึมลงไปเก็บสะสมอยู่ในดินได้มาก แล้วจึงค่อยไหลระบายออกจากดิน ลงสู่ลำธาร และลำห้วยอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ดังนั้น ป่าไม้จึงมีความสำคัญ ที่ช่วยให้ลำน้ำลำธารมีน้ำไหลตลอดทั้งปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารอย่างยิ่ง ในระยะแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ในภาคเหนือ เฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งหลายแห่งเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำมาหากินของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริที่สำคัญ ได้แก่ การหาทางยับยั้งราษฎรชาวไทยภูเขา ไม่ให้บุกรุกทำลายป่าบนภูเขา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารเป็นอันดับแรก โดยเร่งด่วน ด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า ปัญหาที่ราษฎรชาวไทยภูเขาจำนวนมากบุกรุกทำลายป่าตามยอดเขาต้นน้ำลำธาร เพื่อนำพื้นที่มาทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกฝิ่นนั้น นอกจากจะเป็นการผิดกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าว ยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการทำลายป่า ในบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำลำธารด้วย ถ้าหากไม่หาทางหยุดยั้งให้ได้แล้ว ผลเสียหายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ในอนาคตอย่างประมาณมิได้ ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาขึ้น หรือเรียกว่า "โครงการหลวง" ในระยะต่อมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อที่จะให้ชาวไทยภูเขาได้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอย่างถาวรเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว และพืชเมืองหนาวต่างๆ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งจะมีผลช่วยในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ให้พ้นจากความเสื่อมโทรมได้ ดังกระแสพระราชดำรัสมีความตอนหนึ่งว่า
"เรื่องที่ช่วยชาวเขา และโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อที่จะส่งเสริม และสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น... ผลอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้ เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก ที่อาจทำให้บ้านเมืองเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูก โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั้งประเทศ เพราะว่า ถ้าเราสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถที่จะมีการกินดีอยู่ดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดิน ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก"
การจัดตั้งโครงการหลวงในภาคเหนือดังกล่าว จึงเป็นการเริ่มงานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ตามพระราชดำริขึ้น ในภาคเหนืออย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ได้มีการดำเนินงานกระจายไปทั่วภูมิภาคนี้ และอีกหลายแห่งในภาคอื่นด้วย โดยมีรายละเอียดด้านวิชาการที่สำคัญดังต่อไปนี้
พื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
พื้นที่ลุ่มน้ำ หมายถึง บริเวณพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมลำน้ำธรรมชาติตอนใดตอนหนึ่ง เหนือจุดที่ได้กำหนดในลำน้ำนั้นๆ ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมน้ำ ทั้งที่ไหลมาบนผิวดิ นและที่ซึมออกจากดิน ให้ระบายลงสู่ลำน้ำ และไหลไปยังจุดที่กำหนด พื้นที่ลุ่มน้ำจึงเปรียบเสมือนหลังคาบ้านที่รองรับน้ำฝน และลำเลียงน้ำลงสู่รางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ภาชนะเก็บกัก ตัวอย่างเช่น พื้นที่ลุ่มน้ำ เหนือเขื่อนภูมิพล ก็คือพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำปิง เหนือจุด หรือตำแหน่งที่สร้างเขื่อนภูมิพล รวมพื้นที่ประมาณ ๒๖,๓๙๐ ตารางกิโลเมตร เมื่อมีฝนตกภายในพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าว น้ำที่ไหลอยู่บนผิวดิน รวมกับน้ำที่ไหลซึมออกจากดิน ก็จะไหลลงลำธาร แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง ไปยังอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล
แผนที่แสดงพื้นที่ลุ่มน้ำของน้ำแม่เปา อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
สำหรับพื้นที่บริเวณซึ่งอยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำ เรานิยมเรียกกันว่า "พื้นที่ต้นน้ำลำธาร" ซึ่งหมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดของลำธาร อันมีขอบเขตจากแนวสันปันน้ำลงมา จนถึงบริเวณที่เริ่มมีน้ำไหลในลำธารนั้นๆ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ป่าเบญจพรรณเสื่อมโทรม ความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้ ดิน และน้ำในบริเวณต้นน้ำลำธาร
ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ ดิน และน้ำ ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็น ต้องมีความสมดุล และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด หากทรัพยากรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งถูกทำลายสูญเสียไป ความสมดุลระหว่างกันที่มีอยู่ ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้พื้นที่ต้นน้ำลำธารนั้น เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลงอย่างรวดเร็ว เช่น การบุกรุกแผ้วถางป่าไม้อันเป็นทรัพยากรหลักในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นเหตุให้ผิวดินขาดสิ่งปกคลุม ในการช่วยรักษาความชุ่มชื้น และช่วยดูดซึมน้ำ ซึ่งจะมีผลให้เกิดน้ำไหลบ่าไปบนผิวดินอย่างรวดเร็ว จนกัดเซาะพังทลายดินผิวหน้าให้เสื่อมคุณภาพ และอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน ในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน หากในฤดูแล้ง ลำน้ำลำธารเหล่านั้น กลับขาดแคลนน้ำใช้ แม้เพียงเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน ตามที่ปรากฏให้เห็นในทุกภาคของประเทศไทยในปัจจุบัน
๑. ป่าไม้ทำหน้าที่อนุรักษ์ดินและน้ำ
ป่าไม้ หมายถึง พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่มีการเจริญเติบโต รวมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หากในพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว สภาพเช่นนี้จะมีอิทธิพลต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารดังกล่าว ป่าไม้ในประเทศไทยมีอยู่หลายประเภท ทั้งป่าดงดิบ และป่าไม้ผลัดใบ
๒. ดินเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติ
ดิน เกิดจากการแตกสลายผุพังของหิน โดยกระบวนการธรรมชาติ ในด้านการเกษตร ดินจะเป็นวัตถุบนผิวโลกที่มีประโยชน์ในการค้ำจุนพืช เป็นตัวกลางที่พืชใช้สำหรับยึดลำต้น และเป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของพืชพันธุ์ต่างๆ
๓. น้ำในลำธาร
ลำธาร เป็นแหล่งรวบรวมน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งไหลมาจากที่ต่างๆ น้ำในลำธารส่วนใหญ่จะเกิดจากน้ำที่ไหลมาบนผิวดิน และบางส่วนซึมออกมาจากดิน เรียกว่า "น้ำท่า" โดยปริมาณ และสภาพน้ำท่าที่ไหลในลำน้ำธรรมชาติตามฤดูกาลต่างๆ จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น